เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์บริการชุมชนร่วมสร้างฝายมีชีวิตเนินพิศวง

เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์บริการชุมชนร่วมสร้างฝายมีชีวิตเนินพิศวง

เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์บริการชุมชนร่วมสร้างฝายมีชีวิตเนินพิศวงในวันที่ 18 มีนาคม 2560 เวลา 09.00- 16.00 น. นายนิพิฐพนธ์  ฤาชา อาจารย์โปรแกรมเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คณะเทคโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร แม่สอด ได้นำนักศึกษาโปรแกรมเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ชั้นปีที่ 3 รวมทั้งสิ้น 15 คน ร่วมสร้างฝายมีชีวิตเนินพิศวง บ้านห้วยหินฝน หมู่ 6 ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก ขนาด4×6×1.50 ลำดับที่342 ของประเทศไทย เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 01 มีนาคม 2560 เพื่อรักษาต้นน้ำ ลำธารป่าไม้ และเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งปัจจุบันพบว่า ต้นน้ำลำห้วยในพื้นที่ ทั้งแหล่งต้นน้ำ จุดสำคัญบนยอดภูเขาหรือยอดดอยต่าง ๆ เริ่มแห้งขอด ส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายหมู่บ้าน ทั้งในด้านของน้ำกิน-น้ำใช้และด้านเกษตรกรรม ประกอบกับผืนดินป่าต้นน้ำลำธารถูกบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก ทำให้ อาจารย์นักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร แม่สอด พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่นในทุกหมู่บ้าน ต้องออกมาร่วมกันสร้างฝายน้ำล้นเพื่อกักเก็บน้ำ โดยนำหลักการดำเนินชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้สร้างฝายมีชีวิต สู้ภัยแล้ง

นอกจากนี้ พระมหานวปดล กุสลยาโณ เจ้าอาวาสวัดโพธิคุณ หรือ วัดห้วยเตย ในพื้นที่หมู่ 6 บ้านห้วยหินฝน ต.แม่ปะ อ.แม่สอด เปิดเผยว่า ตนเองได้เทศน์สอนให้ชาวบ้านร่วมกันดูแลต้นน้ำ ลำธาร และขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัด ฝายมีชีวิตแห่งนี้ เป็นของชาวบ้านทุกคนที่ร่วมคิด ร่วมสร้าง เพื่อชะลอและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ถือเป็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ไว้ไห้กับลูกหลานจากรุ่นสู่รุ่น

สำหรับฝายมีชีวิตเป็นการเดินรอยตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้หลักคิด 3 ส่วนสำคัญ คือ ต้องเกิดกระบวนการเรียนรู้ภายในชุมชน ใช้ความเข้าใจ ไม่เริ่มโดยงบประมาณ และ วางกฎกติการ่วมกัน

ทั้งนี้ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ พยายามผลักดันให้ชุมชนทั่วประเทศ เรียนรู้ และ สร้างรูปแบบจัดการน้ำเป็นของตนเอง จนกระทั่งมีตัวอย่างความสำเร็จที่เครือข่ายตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

โดยจุดเด่นของที่นี่ คือ การทำเวทีประชาเข้าใจให้ชาวบ้านได้คิดและทำไปด้วยกันก่อนภาครัฐและเอกชนจะเข้ามาสนับสนุนจนเกิดขึ้นเป็น “ฝายมีชีวิต” ซึ่งสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ช่วงภัยแล้ง และกลายเป็นต้นแบบที่จะขยายผลสู่พื้นที่เป้าหมายต่อไป

นายนิพิฐพนธ์ ฤาชา

ผู้เขียนข่าว



1 Comment

นายธานี เสนาะเมือง

22 March 2017 at 10:02 am

ยอดเยี่ยม มีประโยชน์มากๆ