สมุนไพรพื้นบ้าน
ตดหมูตดหมา (กระพังโหม)
ลักษณะเฉพาะทางกายภาพ
ต้นตดหมูตดหมาพบขึ้นทั่วไปในที่รกร้าง ในป่าธรรมชาติ โดยเฉพาะตามป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรัง และป่าที่กำลังคืนสภาพที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 400-800 เมตร ในต่างประเทศพบได้ที่ประเทศอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนวิธีการป้องกันและจำจัด สามารถทำได้โดนการใช้วิธีการเขตกรรม (ถาก ตัดให้สั้นเพื่อไม่ให้ออกดอก หรือขุดทิ้ง) และใช้สารเคมีต่าง ๆ
ต้น
ต้นตดหมูตดหมา จัดเป็นไม้เถาขนาดเล็ก มีกลิ่นเหม็นเขียวเฉพาะและมียาวสีขาวทั้งต้น เจริญเติบโตแบบไม้เลื้อยเนื้ออ่อน ลำต้นเป็นสีเขียว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.8-5 เซนติเมตร ก้านใบ กิ่งอ่อน ก้านช่อดอก และผลมีขนสั้น ๆ ปกคลุมอยู่หนาแน่น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำ เจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด ชอบดินร่วนซุย แสงแดดจัด ทนแล้งได้ดี
ใบ
ลักษณะของใบตดหมูตดหมาเป็นรูปใบหอก ปลายใบแหลมหรือเรียวยาว โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7.1-12 เซนติเมตร ใบเป็นสีเขียวถึงเขียวค่อนข้างเข้ม หน้าใบและหลังใบไม่มีขน แต่จะมีขนสั้น ๆ ละเอียดที่มุมเส้นใบตัดกับเส้นกลางใบ เส้นแขนงใบออกตรงข้ามกันและเยื้องกันบ้าง ปลายเส้นวิ่งไปจนเส้นถัดไป ไม่ถึงขอบใบ เส้นแขนงเล็ก ๆ สานกันเป็นร่างแห มีเส้นแขนงใบข้างละ 4-7 เส้น ก้านใบยาวประมาณ 1.2-2.3 เซนติเมตร
ดอก
ดอกตดหมูตดหมา ออกดอกเป็นช่อบริเวณยอดและตามซอกใบ ยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ดอกย่อยมีจำนวนมากอยู่ชิดติดกันเป็นกระจุก กลีบดอกด้านนอกเป็นสีเขียว ส่วนด้านในเป็นสีม่วงเข้ม ดอกมีลักษณะเป็นรูปกรวยปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉกและหยักตื้น โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม
ผล
ผลตดหมูตดหมา ลักษณะของผลเป็นรูปไข่หรือกลมแบน ผลมีขนาดกว้างประมาณ 0.4-0.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 0.5-0.7 เซนติเมตร ผลจะแก่ในช่วงเมษายนถึงพฤษภาคม
ส่วนที่ใช้เป็นยา
- ราก
- เปลือก
- ต้น
- เถา
- ใบ
- ดอก
- ผล
สรรพคุณของสมุนไพร
ราก
รากใช้แก้โรคดีซ่าน น้ำต้มจากรากใช้ในการขับลม แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ
เปลือก
ใช้ต้มดื่มทำให้อาเจียนได้
ต้น
ใช้รักษาอาการอักเสบบริเวณคอปาก รักษาบาดแผล แก้บิดไข้รากสาด
เถา
ใช้แก้ไข้ รักษาบาดแผล ระบายอ่อน ๆ ใช้รักษาโรคไขข้อ แก้ซาง แก้ท้องเสีย แก้ไข้ตัวร้อน รักษารำมานาด ขับพยาธิไส้เดือน
ใบ
ตำใช้แก้ปวดฟัน ตำพอกแก้พิษงู แก้ท้องเสีย แก้ตัวร้อน แก้ธาตุพิการ แก้คัน ต้มและตำให้ละเอียดวางลงบนท้องช่วยให้การขับปัสสาวะได้ น้ำต้มจากใบให้นำผ้าสะอาดมาชุบแล้ววางบนศรีษะจะช่วยให้ไข้ลดลง
ดอก
ใช้ขับน้ำนมและแก้ไข้จับสั่น
ผล
ใช้แก้ไข้จับสั่น หืดไอ แก้ริดสีดวงทวาร ขับน้ำนม
การใช้สมุนไพร
- กินยอดสด แก้ท้องอืด ขับลม
- เถาตากแห้ง ต้มน้ำดื่มเป็นน้ำสมุนไพร แก้ท้องอืด ขับลม