สมุนไพรพื้นบ้าน
เจตมูลเพลิงแดง (ปิดปิวแดง)
ลักษณะเฉพาะทางกายภาพ
ต้น
ต้นเป็นไม้พุ่มล้มลุกขนาดเล็ก สูงราว 1-1.5 เมตร มีอายุหลายปี กิ่งก้านมักทอดยาว ยอดอ่อนสีแดง ลำต้นกลมเรียบ กิ่งอ่อนสีเขียวปนแดง มีสีแดงบริเวณข้อ
ใบ
ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับกัน รูปไข่ กว้าง 3-5 ซม. ยาว 8-13 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบมน มีสีเขียว ใบบาง แผ่นใบมักบิด ก้านใบและแกนกลางใบอ่อนมีสีแดง
ดอก
ดอกออกเป็นช่อแบบข่อกระจะเชิงลด ยาว 20-90 ซม. ก้านช่อดอกยาว 1-3 ซม. มีดอกย่อยจำนวนมาก ประมาณ 10-15 ดอก ออกออกเป็นช่อตั้งขึ้นที่ปลายกิ่งหรือปลายยอด กลีบดอกสีแดงสด กลีบบางมี 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดเล็ก ๆ ยาว 2.5-3.5 ซม. ปลายแยกเป็น 5 แฉก
ผล
ผลมีลักษณะเป็นฝักกลม ทรงรียาว เป็นผลแห้งเมื่อแก่แตกตามร่องได้
ส่วนที่ใช้เป็นยา
- ราก
- ต้น
- ใบ
- ดอก
สรรพคุณของสมุนไพร
ราก
รากมีรสร้อน เป็นยาบำรุงไฟธาตุ บำรุงโลหิต ขับลมในลำไส้และกระเพาะอาหารให้ผายเรอ ขับพยาธิ แก้ปวดข้อ ขับประจำเดือนสตรี ใช้ผสมในยาบำรุงสำหรับสตรีหลังคลอด เพื่อให้มดลูกเข้าอู่ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ปวดเสียด แน่นหน้าอก ทำให้ร่างกายเกิดความอบุ่น แต่กินมากอาจทำให้แท้งลูกได้ (ไม่ควรใช้ในหญิงมีครรภ์)
ต้น
ต้นมีรสร้อน แก้โลหิตอันเกิดแต่กองกำเดา
ใบ
ใบมีรสร้อน แก้ลมในกองเสมหะ ช่วยย่อยอาหาร ขับผายลม แก้น้ำดีในฝัก
ดอก
ดอกมีรสร้อน แก้น้ำดีในฝัก
การใช้สมุนไพร
- ใช้รากเคี้ยวระงับอาการปวดฟัน
- ใช้ทั้งต้นต้มดื่มเป็นชา แก้ปวด