องค์ความรู้เรื่อง “ชุดไทยพระราชนิยม”

องค์ความรู้เรื่อง “ชุดไทยพระราชนิยม”

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชนิยมเรื่องการใช้ผ้าไทยมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาฯ ประกาศหมั้น ครั้งนั้นได้มีนักหนังสือพิมพ์ชาวต่างประเทศขอสัมภาษณ์ซึ่งพระองค์ได้ให้สัมภาษณ์ว่า จะสนับสนุนและส่งเสริมการแต่งกายที่เป็นแบบไทย เมื่อพระองค์ยังเป็นพระคู่หมั้น ได้ใช้ผ้าไทยและซิ่นไทย ส่วนชุดในพระราชพิธีอภิเษกสมรส ได้ใช้ชุดที่ตัดเย็บด้วยผ้าไทย เมื่อพระราชพิธีได้ผ่านไปแล้ว พระองค์ได้ทรงปฏิบัติตามพระราชปณิธานดังกล่าวต่อมา และได้มีเครื่องแต่งกายแบบไทยตามพระราชนิยมขึ้น ซึ่งกลายเป็นเอกลักษณ์ทางการแต่งกายประจำชาติมาจนทุกวันนี้

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงมีพระราชดำริ เรื่องการแต่งกายประจำชาติของสตรีไทย ตั้งแต่คราวเสด็จฯ เยือนประเทศเพื่อนบ้านเป็นครั้งแรก ในสมัยนั้นยังไม่มีชุดไทยต่างๆ ตามพระราชนิยม ได้ทรงคิดใช้ไหมไทย ผ้าไทย และผ้ายกต่างๆ มาประดิษฐ์ตกแต่งเป็นฉลองพระองค์ เพื่อให้แสดงถึงความเป็นไทย ทรงเจริญรอยสมเด็จพระพันปีหลวง สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เรื่องการใช้ฉลองพระองค์ ทรงให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ และการแต่งกายของสตรีไทยสมัยโบราณมาประยุกต์ และทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อชุดไทยนี้ขึ้นตามแบบต่างๆ ซึ่งได้แนวคิดจาก ชื่อพระตำหนัก และพระที่นั่ง ดังนี้

– ไทยอมรินทร์ (Thai Amarin )
– ไทยจิตรลดา (Thai Chitlada )
– ไทยบรมพิมาน (Thai Boromphiman)
– ไทยจักรพรรดิ (Thai Chakkraphat )
– ไทยจักรี (Thai Chakkri)
– ไทยเรือนต้น ( Thai Ruean Ton )
– ไทยศิวาลัย ( Thai Siwalai )
– ไทยดุสิต (Thai Dusit )

ประวัติความเป็นมาของชุดไทยพระราชนิยม

การแต่งกายของมนุษย์ซึ่งเริ่มต้นแต่ยุคอียิปต์ เรื่อย ๆ มา จนถึงปัจจุบันเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบต่าง ๆ ตามยุคสมัยและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป การแต่งกายมีการพัฒนาการเรื่อยมาจากการใช้ผ้าผืนพันกายเพื่อปกปิดร่างกาย หรืออาจใช้ช่วยป้องกันการร้อนหนาวของมนุษย์ ต่อมาเป็นชุดคลุมหลวม ๆ ที่เรียกว่าทุนิค (Tunic) จนมาสู่การตัดเย็บเพื่อให้พอดีกับรูปร่าง และเป็นแฟชั่นแบบเสื้อต่าง ๆ มากมายจนถึงปัจจุบัน ความนิยมเป็นครั้งคราว นิยมแฟชั่นหรูหรา หรือ แฟชั่นที่มีรูปแบบเรียบง่าย ความรู้สึกเก่า ๆ ได้หวนคืนมา ผู้หญิงเริ่มกลับมานิยมเน้นแฟชั่นที่แสดงออกถึงความเป็นสตรีเพศโดยใส่กระโปรงบานยาว บางช่วงก็กระโปรงแคบสอบสั้นโชว์เรียวขา แฟชั่นก็จะหวนกลับไปกลับมาอย่างนี้

การแต่งกายแบบไทยของสตรีไทยได้วิวัฒน์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เมือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ฯ ได้ทรงเสด็จไปเจริญสัมพันธไมตรี กับต่างประเทศในปี พ.ศ. 2503 สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงรับสั่งให้อาจารย์ สมศรี สกุมลนันท์  หาเครื่องแบบทั่วเป็นเอกลักษณ์ของไทย ขึ้นตามประวัติศาสตร์ ท่านจึงได้คิดค้นจากประวัติความเป็นมาแต่ดังเดิม แล้วดัดแปลงให้เข้ากบสมัยนิยมที่ใช้กันทั่วไป คือ “เครื่องแต่งกายชุดพระราชนิยมของไทย” มาจนทุกวันนี้ สมเด็จพระบรมราชินีนาถเป็นผู้ริเริ่มแต่งฉลองพระองค์นี้ บางครั้งก็เรียก “ชุดไทยพระราชนิยม” มีทั้งหมด 8 ชุด เป็นชุดผ้าซิ่นป้าย 3 ชุด ชุดจีบหน้านาง 5 ชุด

ชุดผ้าชิ้นป้าย 3 ชุดมี

ชุดไทยพระราชนิยม

1. ชุดไทยเรือนต้น เสื้อเข้ารูปคอกลมชิดคอ มีสาปติดกระดุมด้านหน้า 5 เม็ด แขนสามส่วนเข้าชุดกับผ้าชิ้นป้ายหน้า หรือเป็นเสื้อแขนกระบอก นุ่งกับ ผ้าซิ่น ทอลาย ขวาง ใช้ได้ ในหลายโอกาส เช่น เป็น ชุดเช้า ไว้ใส่ บาตร ไปวัด หรือ ไปงาน มงคล ต่าง ๆ
ชุดไทยเรือนต้น คือ ชุดไทยแบบลำลอง ใช้ผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมมีลายริ้วตามขวางหรือตามยาว หรือใช้ผ้าเกลี้ยงมีเชิงตัวซิ่นยาวจรดข้อเท้าป้ายหน้า เสื้อใช้ผ้าสีตามริ้วหรือเชิงสีจะตัดกับซิ่นหรือเป็นสีเดียวกัน ก็ได้เสื้อคนละท่อนกับซิ่น แขนสามสวนกว้างพอสบาย ผ่าอก ดุมห้าเม็ด คอกลมตื้น ๆ ไม่มีขอบตั้ง เหมาะสำหรับใช้แต่งไปในงานที่ไม่เป็นพิธีและต้องการความสบายเช่น ไปงานกฐินต้นหรือ เที่ยวเรือ เที่ยวน้ำตก

ชุดไทยพระราชนิยม

2. ชุดไทยจิตรลดา เสื้อเข้ารูปคอกลมมีขอบ คอตั้ง สาปติดกระดุมด้านหน้า 5 เม็ด แขนยาวจรดข้อมือเข้าชุดกับผ้าซิ่นป้ายหน้า หรือ เป็นเสื้อแขนกระบอก นุ่งกับ ผ้าซิ่น ทอลาย ขวาง ใช้ได้ ในหลาย โอกาส เช่น เป็น ชุดเช้า ไว้ใส่ บาตร ไปวัด หรือ ไปงาน มงคล ต่าง ๆ
ชุดไทยจิตรลดา คือ ชุดไทยพิธีกลางวัน ใช้ผ้าไหมเกลี้ยงมีเชิงหรือ เป็นยกดอกหรือตัวก็ได้ ตัดแบบเสื้อกับซิ่น ซิ่น ยาวป้ายหน้าอย่างแบบลำลอง เสื้อแขนยาว ผ่าอก คอกลม มีขอบตั้งน้อย ๆ ใช้ในงานที่ผู้ชายแต่งเต็มยศ เช่น รับประมุข ที่มาเยือนอย่างเป็นทางการที่สนามบิน ผู้แต่งไม่ต้องประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่เนื้อผ้าควรงดงามให้เหมาะสมโอกาส

ชุดไทยพระราชนิยม

3. ชุดไทยอัมรินทร์ ลักษณะเดียวกับชุดไทยจิตรลดาตัดด้วยผ้าไหมเลื่อนและยกดอกเต็มตัวด้วยดิ้นทองเข้าชุดกับผ้าซิ่นป้ายหน้า หรือเป็นเสื้อแขนยาวคอกลมตั้งติดคอ นุ่งกับผ้าซิ่นไหมยกทองตัดแบบซิ่นป้าย สำหรับแต่งในงานพิธีใช้ได้ในหลายโอกาส
ชุดไทยอมรินทร์ คือ ชุดพิธีตอนค่ำ ใช้ยกไหมที่มีทองแกมหรือยกทองทั้งตัว เสื้อกับซิ่นแบบนี้อนุโลมให้ สำหรับผู้ไม่ประสงค์คาดเข็มขัด ผู้มีอายุจะใช้คอกลมกว้าง ๆ ไม่มีขอบตั้งและแขนสามส่วนก็ได้ เพราะความสวยงามอยู่ที่เนื้อผ้า และเครื่องประดับที่จะใช้ให้เหมาะสมกับงานเลี้ยงรับรอง ไปดูละครในตอนค่ำและเฉพาะในงานพระราชพิธีสวนสนามในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ผู้แต่งชุดไทยอมรินทร์ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์

ชุดจีบหน้าบาง 5 ชุด มี

ชุดไทยพระราชนิยม

1. ชุดไทยบรมพิมาน เสื้อเข้ารูปคอกลมมีขอบคอตั้ง ติดซิปหลัง แขนยาวจรดข้อมือ เข้าชุดผ้าจีบหน้าบางมีชายพก หรือเป็นเสื้อเข้ารูปแขนกระบอก คอตั้ง ติดคอ ผ่าหลังอาจจะเย็บติดกับผ้านุ่งก็ได้ หรือแยกเป็นคนละท่อนก็ได้ เช่นกัน ส่วน ผ้านุ่ง ใช้ ผ้าซิ่น ไหม ยกดิ้น ทอง ตัดแบบหน้านางมีชายพก สำหรับแต่งในงานราชพิธี หรือในงานเต็มยศหรือครึ่งยศ เช่น งานฉลอง สมรส พิธีหลั่งน้ำ พระพุทธมนต์
ชุดไทยบรมพิมาน คือ ชุดไทยพิธีตอนค่ำที่ใช้เข็มขัดใช้ผ้าไหมยกดอกหรือยกทองมีเชิงหรือยกทั้งตัวก็ได้ ตัวเสื้อและซิ่นตัดแบบติดกัน ซิ่นมีจีบข้างหน้าและมีชายพก ใช้เข็มขัดไทยคาดตัวเสื้อแขนยาว คอกลม มีขอบตั้ง ผ่าด้านหลัง หรือด้านหน้าก็ได้ ผ้าจีบยาวจรดข้อเท้า แบบนี้เหมาะสำหรับผู้มีรูปร่างสูงบาง สำหรับใช้ในงานเต็มยศและครึ่งยศ เช่นงานอุทยานสโมสรหรืองานพระราชทานเลี้ยงอาหารอย่างเป็นทางการ ในคืนที่มีอากาศเย็น ใช้เครื่องประดับสวยงามตามสมควรผู้แต่งประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์

ชุดไทยพระราชนิยม

2. ชุดไทยศิวลัย เป็นชุดไทยกแบบชุดไทยบรมพิมาน แต่มีสไบห่มทับสไบไม่ต้องมี แพรจีบรองพื้นเข้าชุดกับผ้าจีบหน้าบางมีชายพก หรือเป็นเสื้อตัวในไม่มีแขน ไม่มีคอ ห่มทับด้วยสไบ แบบมีชายเดียว ทิ้งชายสไบยาวด้านหลัง ปักด้วยลูกปัดทอง นุ่งทับด้วยผ้าซิ่นไหม ยกดิ้นทอง ตัดแบบหน้านาง มีชายพก คาดเข็มขัด เครื่องประดับ สร้อยคอ รัดแขน สร้อยข้อมือ เป็นเครื่องแต่งกาย ของสตรีบรรดาศักดิ์ ปัจจุบันใช้ในงานเลี้ยงฉลองสมรสหรือเลี้ยงอาหารค่ำ
ชุดไทยศิวาลัย มีลักษณะเหมือนชุดไทยบรมพิมานแต่ว่า ห่มสไบ ปักทับเสื้ออีกชั้นหนึ่งใช้ในงานพระราชพิธี หรืองานพิธีเต็มยศเหมาะแก่การใช้แต่งช่วงที่มีอากาศเย็น

ชุดไทยพระราชนิยม

3. ชุดไทยจักรี เสื้อเปิดไหล่เข้ารูปอยู่ชั้นใน ห่มทับด้วยสไบชายเดียว เข้าชุดกับผ้าจีบหน้าบางมีชายพก หรือเป็นเสื้อตัวในไม่มีแขน ไม่มีคอห่มทับด้วยสไบ แบบมีชายเดียว ปักดิ้นทอง ชุดไทยจักรี เดิมจะไม่ปักนุ่งทับด้วยผ้าซิ่นไหม ยกดิ้นทอง ตัดแบบหน้านาง มีชายพก คาดเข็มขัด เครื่องประดับ สร้อยคอ รัดแขน สร้อยข้อมือ สำหรับ แต่งในงาน เลี้ยงฉลองสมรส หรือ ราตรีสโมสรที่ไม่เป็นทางการ
ชุดไทยจักรี คือชุดไทยประกอบด้วยสไบเฉียง ใช้ผ้ายกมีเชิงหรือยกทั้งตัว ซิ่นมีจีบยกข้างหน้า มีชายพกใช้เข็มขัดไทยคาด ส่วนท่อนบนเป็นสไบ จะเย็บให้ติดกับซิ่นเป็นท่อนเดียวกันหรือ จะมีผ้าสไบห่มต่างหากก็ได้ เปิดบ่าข้างหนึ่ง ชายสไบคลุมไหล่ ทิ้งชายด้านหลังยาวตามที่เห็นสมควร ความสวยงามอยู่ที่เนื้อผ้าการเย็บและรูปทรงของผู้ที่สวม ใช้เครื่องประดับได้งดงามสมโอกาสในเวลาค่ำคืน

ชุดไทยพระราชนิยม

4. ชุดไทยจักรพรรดิ ชุดนี้มี 2 แบบ เสื้อเหมือนชุดไทยจักรี และชุดไทยศิวลัย แต่ห่มสไบ 2 ชั้น ชั้นแรกเป็นแพรจีบรองพื้นและห่มทับด้วยสไบกรองทองหรือสไบปักทิ้งชายสไบไว้ที่เอวต้นหน้าและโอบใต้แขนด้านขวาทิ้งชายไว้ด้านหลัง เข้าชุดกับผ้าจีบหน้าบาง มีชายพก หรือเป็นผ้าซิ่นไหมยกดิ้นทอง มีเชิงสีทองตัดแบบหน้านางมีชายพก ห่มด้วยสไบปักลูกปัดสีทอง เป็นเครื่องแต่งกาย สตรีสูงศักดิ์สมัยโบราณ ปัจจุบันใช้เป็นเครื่องแต่งกายชุดกลางคืนที่หรูหราหรือเจ้าสาวใช้ในงานฉลองสมรส ยามค่ำ เครื่องประดับที่ใช้รัดเกล้าต่างหูสร้อยคอสังวาลย์สร้อยข้อมือ
ชุดไทยจักรพรรดิ คือ ชุดไทยห่มสไบคล้ายไทยจักรี แต่ว่ามีลักษณะเป็นพิธีรีตรองมากกว่า ท่อนบนมีสไบจีบรองสไบทึบ ปักเต็มยศบนสไบชั้นนอก ตกแต่งด้วยเครื่องประดับอย่างสวยงาม ใช้สวมในพระราชพิธีหรืองานพิธีต่าง ๆ ที่ยิ่งใหญ่ระดับชาติ

ชุดไทยพระราชนิยม

5. ชุดไทยดุสิต เสื้อเข้ารูปไม่มีแขน คอด้านหน้าและด้านหลังกว้าง ผ่าหลังติดซิป ตัดเสื้อปีกด้วยไขมุก ลูกปัด หรือเลื่อม เข้าชุดกับผ้าชิ้นจีบหน้าบาง มีชายพก หรือเป็นเสื้อคอกลมกว้างไม่มีแขนเข้ารูป ปักแต่งลายไทยด้วยลูกปัดใช้กับผ้าซิ่นไหม ยกดิ้นทองลายดอกพิกุล ตัดแบบหน้านางมีชายพก ใช้ในงานราตรีสโมสรหรือเป็นชุดฉลองสมรสเครื่องประดับที่ใช้ต่างหู สร้อยคอ แหวน
ชุดไทยดุสิต คือ ชุดไทยคอกว้าง ไม่มีแขนใช้ในงานกลางคืนแทนชุดราตรีแบบตะวันตก ตัวเสื้ออาจปักหรือตกแต่งให้เหมาะสม กับงานกลางคืน ตัวเสื้ออาจเย็บติดหรือแยกคนละท่อนกับซิ่นก็ได้ ซิ่นใช้ผ้ายกเงินหรือทองจีบชายพก ผู้แต่งอาจใช้เครื่องประดับแบบไทยหรือตะวันตกตามควรแก่โอกาส

ที่มา http://www.dstd.mi.th/

 


1 Comment

ประชาสัมพันธ์ ขอเชิญร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทง ในงานลอยกระทงหลายประทีปส่งเสด็จสู่สวรรค์

3 November 2017 at 11:23 am

[…] (องค์ความรู้เรื่องการแต่งกายชุดไทย… […]