ศูนย์การเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฏีใหม่ จัดการอบรมการทำฝายมีชีวิตตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้เยาวชนในอำเภอแม่สอดได้เรียนรู้และสืบสานแนวทางพระราชดำริ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่รอดของป่าไม้เป็นอย่างยิ่ง ทรงเสนออุปกรณ์อันเป็นเครื่องมือที่จะใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ที่ได้ผลดียิ่งกล่าวคือ ปัญหาสำคัญที่เป็นตัวแปรแห่งความอยู่รอดของป่าไม้นั้น น้ำ คือสิ่งที่ขาดไม่ได้โดยแท้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำให้ใช้ฝายกั้นน้ำหรือเรียกว่า Check Dam หรืออาจเรียกขานกันว่าฝายชะลอความชุ่มชื้นก็ได้เช่นกัน
Check Dam คือสิ่งที่ก่อสร้างขวางกั้นทางเดินของลำน้ำ ซึ่งปกติมักจะกั้นห้วยลำธารขนาดเล็กในบริเวณที่เป็นต้นน้ำหรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง ทำให้พืชสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และหากช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลงและกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปในบริเวณลุ่มน้ำตอนล่าง นับเป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำได้ดีมากวิธีการหนึ่ง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชดำรัสว่า “การปลูกป่าทดแทนป่าไม้ที่ถูกทำลายนั้นจะต้องสร้างฝายเล็กเพื่อหนุนน้ำส่งไปตามเหมืองไปใช้ในพื้นที่เพาะปลูกทั้งสองด้าน ซึ่งจะให้น้ำค่อย ๆ แผ่ขยายออกไปทำความชุ่มชื้นในบริเวณนั้นด้วย”
ในส่วนของรูปแบบและลักษณะ Check Dam นั้น ได้พระราชทานพระราชดำรัสไว้ว่า “…ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบทิ้งหินคลุมด้วยตาข่ายปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารเล็ก ๆ เป็นระยะ ๆ เพื่อให้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดินทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง ต่อไปจะสามารถปลูกพันธุ์ไม้ป้องกันไฟ พันธุ์ไม้โตเร็ว และพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบ เพื่อฟื้นฟูที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขียวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ…”
ด้วยเหตุนี้เองศูนย์การเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฏีใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร แม่สอด จึงเล็งเห็นหลักการตามแนวพระราชดำริดังกล่าว และมีความตระหนักในการที่จะสืบสานแนวทางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงได้กำหนดจัดการ”อบรมการทำฝายมีชีวิตตามแนวพระราชดำริ”ขึ้นโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้เรียนรู้และสืบสานแนวทางพระราชดำริในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยใช้หลักการของฝายมีชีวิตเป็นจุดเรียนรู้ ในเชิงปฏิบัติซึ่งคาดว่าจะทำให้กลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและได้เรียนรู้ถึงคุณประโยชน์ของฝายมีชีวิตตามแนวพระราชดำริ
โครงการดังกล่าวกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ศูนย์การเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฏีใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร แม่สอด ซึ่งคาดว่าจะมีเยาวชนเข้าร่วมประมาณ 100 คน
อาจารย์ธีรศิลป์ กันธา
ผู้เขียนข่าว