ปี พ.ศ.2535 ผู้ช่วยศาสตราจารย์เจนวิทย์ ผาสุข อธิการบดีวิทยาลัยครูกำแพงเพชร ได้สนองตอบนโยบายของ ดร.นิเชต สุนทรพิทักษ์ อธิบดีกรมการฝึกหัดครู ขอใช้ป่าสงวนเสื่อมโทรมจำนวน 600 ไร่ ในพื้นที่ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จากกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ตั้งแต่ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2536 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 เพื่อเป็นศูนย์การศึกษาและปฏิบัติการทางวิชาการระดับอุดมศึกษาในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาท้องถิ่น
ปี พ.ศ.2537 ได้รับงบประมาณแผ่นดินจำนวน 500,000 บาท และงบบำรุงการศึกษาของวิทยาลัยครูกำแพงเพชรจำนวน 197,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 697,000 บาท สำหรับสร้างสำนักงานชั่วคราว ใช้เป็นสำนักงานศูนย์ปฏิบัติการและวิจัยทางธรรมชาติ ปีเดียวกันนี้ได้รับงบพัฒนาของ นายอุดร ตันติสุนทร สมาชิกผู้แทนราษฏร จำนวน 300,000 บาท สำหรับสร้างฝายน้ำล้น
ปี พ.ศ.2543 อธิการบดีสถาบันราชภัฏกำแพงเพชร (ผศ.รัตนา รักการ) ได้สั่งการให้เปิดสอนนักศึกษาภาคพิเศษ (กศ.บป.) ขณะเดียวกันมติที่ประชุม กรอ. จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2543 ให้สถาบันราชภัฏกำแพงเพชรเปิดสอนระดับปริญญาตรีในวัน เสาร์ – อาทิตย์ (ภาคพิเศษ) ณ อำเภอแม่สอด ในปีการศึกษา 2543 เปิดสอนนักศึกษาภาคพิเศษขึ้น ณ โรงเรียนสรรพวิทยาคม มีนักศึกษาภาคพิเศษจำนวน 650 คน
ในปลายปี พ.ศ.2543 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาประจำสถาบันราชภัฏกำแพงเพชร (นายสุชาติ จึงกิจรุ่งโรจน์) เสนอให้มีคณะกรรมการพัฒนาศูนย์บริการทางวิชาการ ประมาณ 20 คน ที่เป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจของอำเภอแม่สอด ต่อมาเลขาธิการสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏจึงได้ออกคำสั่งที่ 739/2543 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาศูนย์บริการทางวิชาการ ณ ศูนย์ปฏิบัติการและวิจัยทางธรรมชาติ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กอรปกับหอการค้าจังหวัดตาก ขอให้สถาบันราชภัฏกำแพงเพชรเปิดวิทยาเขตที่อำเภอแม่สอด เพื่อเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาแก่ราษฎรตามแนวชายแดน สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก ขอให้จัดตั้งศูนย์ให้การศึกษาภายนอกสถาบัน สำหรับนักศึกษาภาคปกติ
ปี พ.ศ.2544 คณะกรรมการพัฒนาศูนย์บริการทางวิชาการที่เป็นผู้นำเศรษฐกิจ และผู้นำด้านศาสนา หน่วยงานตามคำสั่ง ที่ 739/2543 ได้เสียสละกำลังทรัพย์เป็นจำนวน 15,981,000 บาท สร้างอาคารสำนักงาน 1 หลัง โรงอาหาร-หอประชุม 1 หลัง ที่พักอาจารย์ 2 หน่วย ๆ ละ 6 ห้อง อาคารห้องส้วม 2 หลัง อาคารสำนักวิทยบริการ 1 หลัง สามารถเปิดรับนักศึกษา จัดการเรียนการสอนนักศึกษาภาคปกติได้ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2544
สถาบันราชภัฏกำแพงเพชร ได้กราบทูลเชิญ “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดป้ายสถาบันราชภัฏกำแพงเพชร ศูนย์อุดมศึกษาแม่สอด เปิดการเรียนการสอนและปฏิบัติภารกิจตาม พ.ร.บ.สถาบันราชภัฏ พ.ศ.2538 ต่อมาได้มีการยกฐานะจากศูนย์อุดมศึกษาแม่สอด เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร แม่สอด ตามมติสภามหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552 มีภาระกิจมาตรา 7,8 ในพ.ร.บ. มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 ตามความต้องการ ความคาดหวังของสังคมและ นโยบายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในปีการศึกษา 2543 ได้มีการเปลี่ยนแปลงจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชรแม่สอด ตามโครงการการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง มีการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรี ได้แก่ ปริญญาตรีภาคปกติ จำนวน 6 หลักสูตร และปริญญาตรี 4 ปีภาคพิเศษ จำนวน 3 หลักสูตร เพื่อขยายโอกาสการอุดมศึกษาสู่ท้องถิ่น และมีมติสภามหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ครั้งที่ 2/2552 ตั้งขึ้นมีฐานะเทียบเท่าคณะ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552 ที่จะต้องปฏิบัติมี 4 ประการคือการผลิตบัณฑิต การวิจัย การให้บริการทางวิชาการแก่สังคมและการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
ปี พ.ศ.2553 – 2560 อาจารย์จำนรรจ์ เสนาะเมือง ได้รับการแต่งตั้งจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร เป็นผู้อำนวยการสำนักงานมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร แม่สอด ดูแลทำหน้าที่สานงานเก่า ดูแลงานใหม่ แทนผู้ช่วยศาสตราจารย์เจนวิทย์ ผาสุข และดำเนินการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย โดยมีคณะกรรมการประจำคณะมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร แม่สอด ให้การสนับสนุนแก้ปัญหา ในการดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร แม่สอด
ปี พ.ศ.2560 – ปัจจุบัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์วนัสนันท์ ศิริรัตนะ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรง ตำแหน่งผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร แม่สอด ดูแลทำหน้าที่สานงานต่อจาก อาจารย์จำนรรจ์ เสนาะเมือง ในการสนับสนุนและดำเนินงานต่าง ๆ ตามพันธกิจ วิสัยทัศน์และเป้าประสงค์ของมหาวิทยาลัยฯ เพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร แม่สอด ให้ก้าวไปข้างหน้าต่อไป
รวม | 15,981,000 | |
ลำดับ | ผู้บริจาค | จำนวนเงิน (บาท) |
---|---|---|
1 | ดร.สุชาติ จึงกิจรุ่งโรจน์ | 5,263,400 |
2 | เจ้าคณะจังหวัดตาก (พระราชวีรากร) | 310,000 |
3 | นายวานิช วงษ์ธนสารสิน | 3,117,300 |
4 | นายประจักษ์ พงษ์เรขณานนท์ | 725,000 |
5 | ดร.สมจิตร ลิ้มลือชา | 988,200 |
6 | ดร.สุชาติ ตรีรัตน์วัฒนา | 803,550 |
7 | นายสมศักดิ์ คะวีรัตน์ | 803,550 |
8 | นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ | 500,000 |
9 | นายนิยม ไวยรัชพานิช | 316,000 |
10 | ดร.ปณิธิ ตั้งผาติ | 40,000 |
11 | นายเดชศักดิ์ สุขสะอาด | 120,000 |
12 | นายยุทธศักดิ์ แสนนรินทร์ | 109,000 |
13 | นายจรัล ปวงละคร | 200,000 |
14 | นางสายฝน หาญเมืองใจ | 100,000 |
15 | หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 33 | 1,300,000 |
16 | บริษัทผาแดงอินดัสทรีจำกัดมหาชน | 720,000 |
17 | นิคมสหกรณ์แม่สอด | 565,000 |