ศูนย์การเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฏีใหม่ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์”
ศูนย์การเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฏีใหม่
จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์”
ให้แก่คณะครูและนักเรียน โรงเรียนบ้านห้วยไม้แป้น ตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
วันที่ 23 กรกฏาคม 2562 เวลา 08.30 น.- 12.00 น. ทีมงานศูนย์การเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฏีใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร แม่สอด นำทีมโดย ผศ.ดร.ธีรศิลป์ กันธา ผศ.มัลลิกา ทองเอม อาจารย์นิพิฐพนธ์ ฤาชา นายดวงดี ทองคูณคณาลาภ นายภูริวัฒน์ ยอดคำ ได้อบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์” ให้แก่คณะครูและนักเรียน โรงเรียนบ้านห้วยไม้แป้น ตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ภายใต้โดรงการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน กิจกรรมหลักพัฒนาการการจัดการศึกษาโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษ
นายณัฐพล เตชะพลี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไม้แป้น กล่าวว่า ทีมงานศูนย์การเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฏีใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร แม่สอด ในการเข้ามาช่วยเหลือและส่งเสริมโรงเรียน หรือนักเรียนในขณะนี้ ถือเป็นการดำเนินงานที่ตรงจุดในการช่วยเหลือนักเรียนได้เป็นอย่างดี คือ ปลูกผักปลอดสารพิษ ปลูกผักไฮโดโปรนิก หรือผักยกแคร่ ซึ่งเป็นตัวเลือกอีกช่องทางหนึ่ง ทำให้นักเรียนสามารถปลูกกินเองได้ จำหน่ายได้ เหมาะสร้างเป็นอาชีพเสริม และเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่เดินตามรอยเท้าพ่อ น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และสร้างรายได้ให้กับโรงเรียน
สำหรับการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ถือได้ว่ามีขั้นตอนที่ไม่ยาก ใช้พื้นที่ไม่ต้องมาก ไม่ต้องพึ่งดินหรือออกแรงจับจอบจับเสียมให้เหนื่อย แต่ก็ได้ผักที่สด สะอาด อร่อย และปลอดภัย ไร้สารพิษมากินแบบสะดวก ๆ รางปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ทำเองจากท่อ PVC ที่ไม่ต้องไปหาซื้อชุดปลูกผักราคาแพง ๆ ใคร ๆ ก็สามารถทำตามได้ ไฮโดรโปนิกส์ คือการปลูกพืชในน้ำที่ผสมสารละลายอาหารปลูกเลี้ยง หรือที่เรียกกันตามท้องตลาดว่า “ปุ๋ยน้ำ” โดยผักที่ปลูกแบบ ไฮโดรโปนิกส์ ส่วนมากจะเป็นผักกินใบ และเป็นพืชระยะสั้นที่เก็บเกี่ยวในระยะเวลาอันรวดเร็ว ที่นิยมปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ได้แก่ เรดโอ๊ค กรีนโอ๊ค ร็อคเก็ต ฟิลเลย์ กรีนคอส บัตเตอร์เฮด ผักกาดหอม ระยะเวลาในเก็บเกี่ยวคือ 40 -60 วัน ส่วนใหญ่นั้นจะใช้เป็นวัตถุดิบประกอบอาหารในเมนูสลัดผักที่มักจะรับประทานสดๆ
การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ทีมงานศูนย์การเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฏีใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร แม่สอด ขอขอบคุณ นายณัฐพล เตชะพลี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไม้แป้น พร้อมด้วยคณะครู และนักเรียนโรงเรียนบ้านห้วยไม้แป้นทุกท่าน สำหรับการต้อนรับและ ดูแลเป็นอย่างดี
อาจารย์นิพิฐพนธ์ ฤาชา
ผู้เขียนข่าว